ประวัติเครือข่ายงานทะเบียนทางการศึกษา
HOW WE BECOME REGISTRAR NETWORK
ความเป็นมาของเครือข่าย
งานทะเบียนทางการศึกษา ของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานบริการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่เพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลมีความหลากหลายมุมมองและขยายวงกว้างสู่งานทะเบียนทางการศึกษาในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศมากขึ้น จึงเริ่มรวมเป็นเครือข่ายที่ชัดเจนมากขึ้นจากการประชุมสัมมนาวิชาการเครือข่ายระบบทะเบียนและประมวลผล ครั้งแรกในปี พ.ศ.2539 และมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลมูลสารกับงานทะเบียนของสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ รวมถึงเป็นการเชื่อมโยงเครือข่าย สร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานทะเบียนทางการศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต

1. ครั้งที่ 1 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2539 หัวข้อ โครงการสัมมนาวิชาการเรื่องเทคโนโลยีกับงานทะเบียนนักศึกษาในทศวรรษหน้า โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดระบบข้อมูลงานทะเบียนนักศึกษา เพื่อจัดการระบบข้อมูลข่าวสารให้ใช้งานได้ง่าย สะดวกต่อการใช้งานในทั่ว ๆ ไปและมีความทันสมัยยิ่งขึ้น
2. ครั้งที่ 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 – 26 มีนาคม 2547 หัวข้อ โครงการสัมมนาบุคลากรงานทะเบียนและประมวลผลการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อต้องการให้ทราบถึงบทบาทหน้าที่การทำงานของสำนักงานทะเบียนและประมวลผลต่อการปฏิรูปคุณภาพการศึกษาตาม พรบ. 2542 และการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานกับงานทะเบียน เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน และทันสมัยยิ่งขึ้น
3. ครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 – 12 กรกฎาคม 2551 หัวข้อ การพัฒนาระบบการเรียน และการบริการการศึกษาคุณภาพการบริการ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนางานด้านการบริการงานการศึกษาระหว่างสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินงานมีความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. ครั้งที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 – 4 พฤศจิกายน 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีและสื่อกลางให้บุคลากรในงานทะเบียนทางการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ปัญหาและข้อเสนอแนะ เพื่อรับเอาความรู้ ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพและผลักดันให้ระบบงานทะเบียนทางการศึกษาก้าวไปสู่ระดับสากล
5. ครั้งที่ 5 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 – 27 พฤศจิกายน 2553 หัวข้อ ร่วมคิด ร่วมสร้าง … สำนักทะเบียนต้นแบบ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความรู้ เทคนิคและประสบการณ์ในการทำงาน เพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติงานทะเบียนทางการศึกษาและการประมวลผลการศึกษาที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล
6. ครั้งที่ 6 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 – 9 ธันวาคม 2554 หัวข้อ ร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมทำ บทบาทและการพัฒนางานทะเบียนและประมวลผลการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ความรู้และเทคนิครวมทั้งประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติงานทะเบียนและการประมวลผลการศึกษาที่ได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล
7. ครั้งที่ 7 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 – 26 ตุลาคม 2555 หัวข้อ งานประจำผ่านการวิจัยสู่นวัตกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานและสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปัญหา ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในการทำงานบริการการศึกษา งานทะเบียนและประมวลผลการศึกษาที่ยั่งยืนและก้าวหน้าในระดับสากล
8. ครั้งที่ 8 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 -22 พฤศจิกายน 2556 หัวข้อ ระบบคุณภาพกับงานทะเบียนและประมวลผล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการงานทะเบียนและประมวลผลการศึกษา และเป็นเวทีแสดงผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีในการพัฒนาคุณภาพงานด้านทะเบียนและประมวลผล
9. ครั้งที่ 9 มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 – 27 มิถุนายน 2557 หัวข้อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบทะเบียนและประมวลผลเพื่อก้าวสู่อาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบทะเบียนและประมวลผลเพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่อาเซียน และเพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่าย
10. ครั้งที่ 10 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 – 30 สิงหาคม 2562 หัวข้อ Digital Disruption กับงานบริการทางการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงานและสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปัญหา ข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในการทำงานบริการการศึกษา รวมทั้งการแลกเปลี่ยนร่วมคิดหาแนวทางการจัดทำข้อมูล “โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ฯ” ตามรูปแบบของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดไว้

พ.ศ. 2554 สำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความหมายสัญลักษณ์เครือข่ายงานทะเบียนทางการศึกษา ไว้ดังนี้
– เส้นที่ไขว้กัน หมายถึง ความเป็นเครือข่าย สื่อการประมวลผล
– สีที่หลากหลาย หมายถึง การเป็นตัวแทนของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ